ช่วงนี้มีหลายท่านที่สอบถามเรื่องการปรุงดินปลูกผักสลัดลงแปลงผักแบบดั้งเดิม (conventional farming) ว่าจะทำอย่างไรที่ง่าย และได้ผลดี ก็เลยเอาวิธีการปรุงดินปลูกผักลงแปลง ของลุงสุเทพ กุลศรี มาเล่าสู่กันฟังครับ
ขั้นที่ 1 ขึ้นแปลงปลูกผักสลัด และการปรุงดิน
ขุดพลิกหน้าดินเพื่อขึ้นแปลงปลูกผักสลัด
เรามาเริ่มต้นกันนะครับ ขั้นตอนแรกเลยก็ต้องมาขุดพลิกหน้าดินแล้วก็ขึ้นแปลงกัน ขนาดของแปลงปลูกผักสลัดที่เหมาะสมที่จะทำให้ทำงานสะดวกแปลงควรจะมีขนาด กว้าง 1.5 เมตร ส่วนความยาวก็แล้วแต่พื้นที่นะครับ
ปรับหน้าดินแปลงปลูกผักสลัด
หลังจากขึ้นแปลงปลูกแล้วก็ปรับหน้าดินให้เรียบ ถ้าทำเป็นพูนหลังเต่าด้วยก็จะดียิ่งขึ้น พอขึ้นแปลงแล้วก็ตากดินให้แห้ง (ต้องตากดินให้แห้งครับ) พอดินแห้งเราก็จะทำการปรับแปลงให้เรียบ
โรยปุ๋ยคอกบนแปลงปลูกผัก
การโรยปุ๋ยคอก (ปุ๋ยคอกทั้งหมด ควรจะรดหรือแช่น้ำให้ชุ่มทิ้งไว้ซัก 2-3 วัน ต้องแน่ใจว่าปุ๋ยคอกชุ่มชื้นทั้งหมด)
อัตราการใช้ปุ๋ยคอกแห้งในแปลงปลูกผักสลัด
ปริมาณ 1 กก./ตารางเมตร ตามหลักวิชาการจะแนะนำให้ใช้ 2 กก./ตารางเมตร แต่สูตรของลุงเทพใช้แค่ครึ่งเดียวก็งอกงามได้
รดน้ำบนแปลงปลูกผัก
หลังจากหว่านปุ๋ยคอก แล้วก็ทำการรดน้ำบนแปลงปลูกผัก การรดน้ำนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เราจะต้องรดน้ำให้ชุ่มจนแฉะ และให้น้ำขังเจิ่งนองบนแปลงเลยนะครับ จุดประสงค์ในการรดน้ำนี้ เพื่อให้น้ำไปชะเอาธาตุอาหารในปุ๋ยคอกออกมา ธาตุอาหารที่ถูกชะออกมานั้น ดินที่อยู่บริเวณรอบๆ ก็จะซับเอาธาตุอาหารเอาไว้ จากดินที่มีธาตุอาหารน้อย หรือไม่มีเลย ก็จะกลายเป็นดินที่มีธาตุอาหารมากขึ้นทันที
นี่คือการถ่ายธาตุอาหารที่มีจำนวนมากออกมาจากปุ๋ยคอก เพื่อให้ดินซับเอาไว้ (นี่คือการขยายธาตุอาหารออกมา) นี่เป็นขั้นตอนเพิ่ม, ขยาย, กระจายธาตุอาหารขั้นที่ 1 (เดี๋ยวจะมีกระบวนการเพิ่มธาตุอาหารขั้นที่ 2 ต่อไปครับ)
โรยขุยมะพร้าวปิดหน้าดิน
พอรดน้ำได้ที่แล้ว หลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนที่เอาขุยมะพร้าวมาโรยทับหน้าดิน การโรยขุยมะพร้าวเราต้องโรยทับให้ปิดหน้าดินให้มิดหน้าดินทั้งหมด
หลังจากนั้นก็รดน้ำให้ชุ่มฉ่ำเพื่อให้ขุยมะพร้าวสัมผัสหน้าดินให้มากที่สุด ก็เป็นอันเสร็จพิธี บ่มดินทิ้งไว้ซัก 7-10 วัน ก็สามารถลงกล้าผักได้เลยครับ
ขั้นที่ 2 กลไกลทำให้ดินมีคุณภาพสูง
ทีนี้เรามาดูกลไกที่จะทำให้ดินดีขึ้น (มากๆๆๆๆ) ในขั้นที่ 2 กันครับ หลังจากที่เรารดน้ำให้ความชุ่มชื้นทั้งดิน และปุ๋ยคอกแล้ว จุลินทรีย์ที่อยู่ในปุ๋ยคอก และในดินที่เคยเข้าสปอร์อยู่ ก็จะ active ขึ้นมา (ปกติจุลินทรีย์ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แห้งเขาจะเข้าสปอร์อยู่) พอจุลินทรีย์ได้ความชื้นเขาจะทำการแตกสปอร์ขึ้นมา และดำเนินตามกระบวนการของการมีชีวิตของเขา และในช่วงที่เขาเจริญเติบโตอยู่นั้น เขาจะผลิตฮอร์โมน, เอนไซม์ และกรดอมิโนชนิดต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชออกมา แล้วพืชผักของเราก็จะสามารถนำมาใช้ในการเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีครับ
สรุปวิธีการปรุงดินปลูกผักสลัดบนแปลง
นี่คือกลไกในการที่ปรุงดิน แล้วเป็นผลดีต่อพืชผักที่เราจะปลูกได้เป็นอย่างดีครับ ลุงเทพคิดว่าคงจะได้ประโยชน์สำหรับท่านที่กำลังจะปรุงดินปลูกผักกันนะครับ
ถ้าใครได้มีโอกาสทำ หรือทำแล้วได้ผลเป็นอย่างไร รบกวนช่วยรีวิวบอกกันบ้าง ที่ Facebook นี้นะครับ
ลุงสุเทพ กุลศรี
ปราชญ์นวัตกรรมด้านการเกษตร